ประกาศผลการประกวดตราสัญลักษณ์สภาคณบดีทางศิลปะแห่งประเทศไทย

ประกาศประกวดตราสัญลักษณ์(Logo)สภาคณบดีทางศิลปะแห่งประเทศไทย
สภาคณบดีทางศิลปะแห่งประเทศไทยได้จัดให้มีการตัดสินการประกวดตราสัญลักษณ์ขึ้นในวันที่ 15 กรกฎาคม 2552 โดยมีคณะกรรมการตัดสินคือ
1.ผศ.สรรเสริญ มิลินทสูต ประธานสภาคณบดีทางศิลปะแห่งประเทศไทย
2.ผศ.เสริมสุข เธียรสุนทร สถาบัณเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
3.อาจารย์ณปภัช เจริญผล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญญบุรี
4.อาจารย์บำรุง อิศรกุล มหาวิทยาลัยรังสิต
5.อาจารย์ปิยลักษณ์ เบญจดล มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
6.คุณสันติ ลอรัชวี นักออกแบบ
7.ดร.พรรณี วิรุณานนท์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
โดยมีผลการตัดสินดังนี้












รางวัลชนะเลิศ นายดิเรก วิเศษวงษา มหาวิทยาลัยศิลปากร











รางวัลรองชนะเลิศ น.ส.รมิตา บุญเต็ม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ







รางวัลชมเชย นายอำพล อำไพมล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

ทั้งนี้ผลการตัดสินจะมีการรับรองอย่างเป็นทางการภายใน 7 วันหลังการเผยแพร่ หากไม่มีการทักท้วงในเรื่องลิขสิทธิ์
และการลอกเรียนแบบ

กำหนดพิธีแจกรางวัลจะประกาศให้ทราบอีกครั้ง
15 กรกฏาคม 2552

เลื่อนกำหนดส่งประกวดตราสัญลักษณ์สภาคณบดีทางศิลปะแห่งประเทศไทย

สภาคณบดีทางศิลปะแห่งประเทศไทย ขอเลื่อนกำหนดการส่งประกวดตราสัญลักษณ์(Logo)สภาคณบดีทางศิลปะแห่งประเทศไทย โดยมีกำหนดส่งภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2552 และจะประกาศผลในวันที่ 15 กรกฎาคม 2552
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ อ.นิจจัง พันธะพจน์ โทร 02 902 0299 ต่อ 2618,2610 โทรสาร 02 516 6120

e-Mail nitjung.p@bu.ac.th

การประชุมคณะทำงานร่างเกณฑ์มาตรฐานงานสร้างสรรค์

(ร่าง) เกณฑ์มาตรฐานงานสร้างสรรค์โดยคณะทำงานฯ กลุ่มที่ 1
สาขา การออกแบบนิเทศศิลป์และการออกแบบสื่อ
วันที่ประชุม 3 เมษายน 2552
รายชื่อคณะทำงานที่เข้าร่วมประชุมครั้งที่ 1
1. ผศ. จรัญ ชัยประทุม
2. อ. ปิยลักษณ์ เบญจดล
3. อ. ทัศนัย เศรษฐเสรี
4. อ. อัญชุลี อำไพศรี
5. ว่าที่ ร.ต.ศรัทธา สินสาธิตสุกุล
6. อ. บุญพาด ฆังคะมะโน
7. อ. รุ่งนภา ผลพฤกษา

คำจำกัดความ
งานสร้างสรรค์ สาขาการออกแบบ หมายถึง การออกแบบนิเทศศิลป์ การออกแบบสื่อ การออกแบบผลิตภัณฑ์ การออกแบบแฟชั่น การออกแบบเครื่องประดับ การออกแบบภายใน และสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่แสดงออกถึงแนวความคิดของผู้สร้างสรรค์เองโดยไม่ลอกเลียนผู้ใด กระบวนการสร้างสรรค์งานต้องมีวัตถุประสงค์ชัดเจนและมีการวางแผนงานล่วงหน้า ประกอบไปด้วยตัวผลงานจำนวน 1 ชิ้นหรือหลายชิ้นโดยนับเป็นผลงานวิชาการ (งานสร้างสรรค์) 1 ผลงาน และรายงานผลงานวิชาการ (งานสร้างสรรค์) ที่อธิบายและชี้ให้เห็นว่างานดังกล่าวทำให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาการหรือเสริมสร้างองค์ความรู้ หรือให้วิธีการที่จะเป็นประโยชน์ต่อสาขาวิชานั้น หรือแสดงถึงความสามารถในการบุกเบิกในสาขาวิชานั้น หรือมีประโยชน์ต่อการเรียนการสอนด้านศิลปะและการออกแบบ โดยอาจมีรายละเอียดต่างๆ ที่แสดงให้เห็นคุณค่าของผลงานเพิ่มเติม ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นงานออกแบบที่ทำเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเพื่อรับปริญญาหรือประกาศนียบัตรใดๆ

ข้อเสนอแนะ: ควรมีการประชุมเพื่อกำหนดการแบ่งสาขาย่อยและคำนิยามของแต่ละสาขาย่อย

ตัวอย่าง
งานสร้างสรรค์ สาขาการออกแบบนิเทศศิลป์และการออกแบบสื่อ หมายถึง งานออกแบบกราฟิก (graphic design) อัตลักษณ์องค์กรและการสร้างแบรนด์ (corporate identity and branding) ข้อมูลเชิงภาพ (information graphics) แบบตัวอักษร (typeface / typography) คาแรกเตอร์ (character) สิ่งพิมพ์ (book / editorial) ภาพประกอบ (illustration) ภาพถ่าย (photography) บรรจุภัณฑ์ (packaging) สื่อการสอน (instructional media) กราฟิกในสภาพแวดล้อม (environmental graphics) กราฟิกเพื่อการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ (promotional graphics and advertising) แอนิเมชั่น (animation) โมชั่นกราฟิก (motion graphics) ภาพยนตร์สั้น (short film) มิวสิกวีดิโอ (music video) สื่อเชิงปฏิสัมพันธ์และเว็บไซต์ (interactive media and website) มัลติมีเดีย (multimedia) หรือการผสมผสานงานเหล่านี้ในโครงการเดียวกัน รวมทั้งการ curate งานออกแบบสาขาการออกแบบนิเทศศิลป์และการออกแบบสื่อ ที่แสดงออกถึงแนวความคิดของผู้สร้างสรรค์เองโดยไม่ลอกเลียนผู้ใด กระบวนการสร้างสรรค์งานต้องมีวัตถุประสงค์ชัดเจนและมีการวางแผนงานล่วงหน้า ประกอบไปด้วยตัวผลงานจำนวน 1 ชิ้นหรือหลายชิ้นโดยนับเป็นผลงานวิชาการ (งานสร้างสรรค์) 1 ผลงาน และรายงานผลงานวิชาการ (งานสร้างสรรค์) ที่อธิบายและชี้ให้เห็นว่างานดังกล่าวทำให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาการหรือเสริมสร้างองค์ความรู้ หรือให้วิธีการที่จะเป็นประโยชน์ต่อสาขาวิชานั้น หรือแสดงถึงความสามารถในการบุกเบิกในสาขาวิชานั้น หรือมีประโยชน์ต่อการเรียนการสอนด้านศิลปะและการออกแบบ โดยอาจมีรายละเอียดต่างๆ ที่แสดงให้เห็นคุณค่าของผลงานเพิ่มเติม ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นงานออกแบบที่ทำเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเพื่อรับปริญญาหรือประกาศนียบัตรใดๆ

รายงานผลงานวิชาการ (งานสร้างสรรค์) หมายถึง เอกสารที่อธิบายถึงที่มาของแนวความคิด วัตถุประสงค์ของการออกแบบ แผนงานและกระบวนการออกแบบ การวิเคราะห์ผลการออกแบบ และผลงานออกแบบ โดยมีบทคัดย่อ (abstract) และการอ้างอิงอย่างถูกต้องและเหมาะสมตามหลักวิชาการ

รูปแบบ / คุณสมบัติของผลงาน
ผลงานวิชาการ (งานสร้างสรรค์) 1 ผลงานพร้อมรายงานผลงานวิชาการ (งานสร้างสรรค์) 1 เล่มที่มีคุณสมบัติดังนี้
1. ผลงานวิชาการ (งานสร้างสรรค์) ตามคำจำกัดความ ที่มีรูปแบบที่เรียกได้ว่าเป็นงานออกแบบที่อาจสร้างขึ้นในนามของตนเองคนเดียวหรือสร้างขึ้นในนามกลุ่มก็ได้ เช่น สร้างขึ้นในนามของ design firm design studio designer-collaborative หรือ artist-initiative เป็นต้น
2. คำอธิบาย / ชี้แจงที่ชัดเจนประกอบผลงานในข้อ 1 ในรูปแบบของรายงานผลงานวิชาการ (งานสร้างสรรค์) ตามคำจำกัดความ ที่วิเคราะห์ให้เห็นว่าเป็นผลงานที่ทำให้เกิดการพัฒนาและความก้าวหน้าทางวิชาการ หรือเสริมสร้างความรู้หรือก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาขาวิชาหนึ่งๆ หรือหลายสาขาวิชาได้อย่างไร ในแง่ใด โดยอาจมีการแสดงหลักฐานเป็นรายละเอียดต่างๆ ที่แสดงให้เห็นว่ามีบุคคลอื่นเห็นคุณค่าของงานออกแบบผลงานนั้นเพิ่มเติม เช่น การเขียนวิจารณ์โดยนักวิจารณ์ การถูกอ้างอิงในผลงานวิชาการอื่น การถูกอ้างอิงโดยนักวิจารณ์ เป็นต้น

การนับผลงาน
ผลงานวิชาการ (งานสร้างสรรค์) 1 โครงการพร้อมรายงานผลงานวิชาการ (งานสร้างสรรค์) 1 เล่มนับเป็นผลงานวิชาการ 1 ผลงาน
(เทียบเท่างานวิจัย 1 เรื่องของสาขาอื่นๆ)

การเผยแพร่
ผลงานวิชาการ (งานสร้างสรรค์) ทั้งงานออกแบบเชิงพาณิชย์ที่มีผู้ว่าจ้างและได้รับค่าตอบแทนหรืองานออกแบบที่ไม่มีผู้ว่าจ้างและไม่ได้รับค่าตอบแทน
มีวิธีการเผยแพร่สู่สาธารณชนในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งหรือหลายรูปแบบประกอบกัน ดังนี้
1. งานออกแบบที่พิมพ์เป็นจำนวนน้อยด้วยระบบพิมพ์ดิจิทัลตามสั่ง (digital printing on-demand) หรือพิมพ์ด้วยเทคนิคอื่น หรือพิมพ์เป็นจำนวนมากโดยโรงพิมพ์ (Printing House) หรือสำนักพิมพ์ (Publishing House) ถูกเผยแพร่ไปยังกลุ่มเป้าหมายตามวัตถุประสงค์ของงานออกแบบ
2. งานออกแบบที่เป็นสื่อดิจิทัลหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ถูกเผยแพร่ไปยังกลุ่มเป้าหมายตามวัตถุประสงค์ของงานออกแบบในรูปแบบของซีดีรอม
ดีวีดี การออกอากาศทางโทรทัศน์ หรือเว็บไซต์ ฯลฯ
3. งานออกแบบในรูปแบบของงาน 3 มิติ เช่น ผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ สื่อการสอน กราฟิกในสภาพแวดล้อม ฯลฯ ถูกเผยแพร่ไปยังกลุ่มเป้าหมายตามวัตถุประสงค์ของงานออกแบบ
4. การเผยแพร่โดยเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการศิลปะหรือการออกแบบในประเทศหรือต่างประเทศ
5. การเผยแพร่ลักษณะอื่นๆ ที่เป็นไปอย่างกว้างขวาง
ทั้งนี้ การเผยแพร่ดังกล่าวให้แสดงหลักฐานเป็นเอกสาร ภาพถ่าย ภาพวีดิทัศน์ หรือการบันทึกการเผยแพร่ด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามความเหมาะสม

รายงานผลงานวิชาการ (งานสร้างสรรค์) ไม่จำเป็นต้องมีการเผยแพร่ต่อสาธารณชน

สถานที่เผยแพร่
.............................................

การประเมินคุณค่า (ตัวชี้วัด / ระดับคุณค่า)
ลักษณะคุณภาพ 3 ระดับ
ระดับดี เป็นผลงานใหม่ หรือเป็นการนำสิ่งที่มีอยู่แล้วมาประยุกต์ด้วยวิธีการใหม่ๆ และผลงานนั้นก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านใดด้านหนึ่ง
ระดับดีมาก ใช้เกณฑ์เดียวกับระดับดี และต้อง
1. ได้รับการรับรองโดยองค์กรทางวิชาการ/องค์กรทางวิชาชีพ หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในสาขาวิชานั้นหรือ
2. เป็นผลงานที่สร้างสรรค์และเป็นที่ยอมรับของผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชานั้นๆ
ระดับดีเด่น ใช้เกณฑ์เดียวกับระดับดีมาก และต้องเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปในวงวิชาการและ/หรือวงวิชาชีพทั้งในระดับชาติ และ/หรือระดับนานาชาติ

ระบบการจัดการความรู้จากงานสร้างสรรค์
สถาบันฯ มอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการจัดการความรู้นำผลงานวิชาการ (งานสร้างสรรค์) และ/หรือรายงานผลงานวิชาการ (งานสร้างสรรค์) ไปดำเนินการให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านสื่อต่างๆ ตามความเหมาะสม

หัวข้ออื่นๆ ที่อาจเกี่ยวข้อง:
คณะกรรมการพิจารณาประเมินคุณค่าผลงานสร้างสรรค์ทางศิลปะ (ระบบและกลไก)
สถาบันฯ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณารับรองคุณภาพผลงานวิชาการ (งานสร้างสรรค์) ตามที่เห็นสมควร
ข้อเสนอแนะ: สภาคณบดีทางศิลปะแต่งตั้งคณะกรรมการทางด้านศิลปะและการออกแบบเพื่อให้สถาบันต่างๆ สามารถเชิญเป็น
คณะกรรมการประเมินคุณภาพได้

กรรมสิทธิ์และลิขสิทธิ์
ข้อเสนอแนะ: สภาคณบดีทางศิลปะจัดสัมมนาเรื่องลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปะและงานออกแบบ

การประเมินคุณภาพการศึกษา
ข้อเสนอแนะ: สภาคณบดีทางศิลปะจัดประชุมระหว่างสถาบันการศึกษา สกอ. สมศ. และหน่วยงานด้านประกันคุณภาพที่เกี่ยวข้อง

กลุ่มที่ 2
สาขาทัศนศิลป์และวิจิตรศิลป์
วันที่ประชุม 3 เมษายน 2552
รายชื่อคณะทำงานที่เข้าร่วมประชุมครั้งที่ 1
1.ศ.สุชาติ เถาทอง
2.รศ.อิทธิพล ตั้งโฉลก

3.รศ.สรรณรงค์ สิงหเสนี
4.รศ.กันจณา ดำโสภี
5.ผศ.เกียรติการุณ ทองพรมราช
6.ผศ.เสริมศักดิ์ สุขเปี่ยม
7.ผศ.ชำนาญ เล็กบรรจง

8.อ.วิเชษฐ์ จันทร์คงหอม
9.อ.นุชนาฏ ใจกล้า
10.อ.อุทิศ อติมานะ
11.อ.วรรณรางค์ เล็กอุทัย (แทน)

คำจำกัดความ
งานสร้างสรรค์หมายถึงการทำงานศิลปะที่มีกระบวนการทำงานเป็นระบบ

รูปแบบ / คุณสมบัติของผลงาน
ผลงานเช่น จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ ศิลปะสื่อผสม สื่อศิลปะ และอื่นๆ
โดยอาจสร้างขึ้นในนามของตนเองหรือกลุ่ม
(1) เป็นงานสร้างสรรค์ใหม่
(2) เป็นงานต้นแบบ แสดงอัตลักษณ์ของผู้สร้างสรรค์
(3) เป็นงานที่ปฏิบัติด้วยตนเอง หรือเป็นผู้ควบคุมให้เป็นไปตามแนวคิดและจุดมุ่งหมายของผู้สร้างสรรค์

การนับผลงาน
หมายถึง ตัวผลงานสร้างสรรค์และเอกสารประกอบการสร้างสรรค์ที่แสดงเนื้อหา แนวความคิด รูปแบบ เทคนิคและวิธีการดำเนินการสร้างสรรค์อย่างมีระบบ
คุณสมบัติที่แสดงถึงความเป็นชิ้นงาน
- ใช้จำนวน “ชิ้น”งาน เป็นฐานในการนับ
- ใช้จำนวน “ชุด” ผลงาน เป็นฐานในการนับ
- ใช้จำนวน “นิทรรศการ” เป็นฐานในการนับ
- ใช้จำนวน “โครงการ” เป็นฐานในการนับ
- นับโดยใช้ผลงานที่เสร็จสมบูรณ์และเผยแพร่ไปแล้ว หรือกำลังเผยแพร่เท่านั้นเป็นฐานในการนับเป็นชิ้นงาน
- ประเด็นของขนาด(เล็ก-ใหญ่) เป็นฐานในการนับ
- กรณีเป็นการทำงานร่วมกันของศิลปินมากกว่าหนึ่งคน ใช้ปริมาณเนื้องานเป็นฐานในการนับ

การเผยแพร่
หมายถึง การจัดแสดงผลงานสร้างสรรค์สู่สาธารณะ และมีเอกสารสิ่งพิมพ์เผยแพร่ เช่น สูจิบัตร หรือสื่ออื่นๆที่เป็นหลักฐานยืนยัน

สถานที่เผยแพร่
หมายถึง สถานที่จัดแสดงผลงานสร้างสรรค์ที่เป็นที่ยอมรับน่าเชื่อถือ เช่น หอศิลป์ของรัฐและเอกชน หอศิลป์ประจำจังหวัด หอศิลป์มหาวิทยาลัย หรือพื้นที่สาธารณะ และอินเตอร์เนท เป็นต้น

การประเมินคุณค่า (ตัวชี้วัด / ระดับคุณค่า)
ตัวชี้วัดหลัก คือ การประเมินคุณค่าทางศิลปะของผลงาน โดยผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้เชี่ยวชาญทางศิลปะ นักวิชาการทางศิลปะ ฯลฯ ในรูปคณะกรรมการ หรือคณะอนุกรรมการ จำนวนไม่เกิน 5 คน หรือไม่น้อยกว่า 3 คน
ตัวชี้วัดรอง คือ การประเมินภูมิหลังด้านการสร้างสรรค์ของผู้สร้างสรรค์
(1) การเผยแพร่ผลงานสร้างสรรค์ พิจารณาถึงความสำคัญของนิทรรศการ จำนวนครั้ง ขนาดของนิทรรศการ และความน่าเชื่อถือขององค์กร/ หน่วยงาน / กลุ่มบุคคล / บุคคลผู้จัดนิทรรศการ
(2) การได้รับรางวัลในระดับชาติ ระดับนานาชาติ ได้รับเชิญเข้าร่วมแสดงงาน หรือได้รับคัดเลือกให้นำเสนอผลงานในระดับชาติ หรือระดับนานาชาติ
(3) การได้รับการประกาศเกียรติคุณยกย่องให้เป็นศิลปินในระดับต่างๆ เช่น ศิลปินแห่งชาติ ศิลปินชั้นเยี่ยม และศิลปินเกียรติยศอื่นๆ

ระดับคุณค่างาน
ระดับดี เป็นผลงานใหม่ หรือเป็นการนำสิ่งที่มีอยู่แล้วมาประยุกต์ด้วยวิธีการใหม่ๆ และผลงานนั้นก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านใดด้านหนึ่ง
ระดับดีมาก ใช้เกณฑ์เดียวกับระดับดี และต้อง
1. ได้รับการรับรองโดยองค์กรทางวิชาการ/องค์กรทางวิชาชีพ หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในสาขาวิชานั้นหรือ
2. เป็นผลงานที่สร้างสรรค์และเป็นที่ยอมรับของผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชานั้นๆ
ระดับดีเด่น ใช้เกณฑ์เดียวกับระดับดีมาก และต้องเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปในวงวิชาการและ/หรือวงวิชาชีพทั้งในระดับชาติ และ/หรือระดับนานาชาติ

ระบบการจัดการความรู้จากงานสร้างสรรค์
หมายถึง การนำความรู้ที่ได้จากงานสร้างสรรค์เผยแพร่สู่สาธารณชน

กรรมสิทธิ์และลิขสิทธิ์
กรรมสิทธิ์และลิขสิทธิ์ของผลงานสร้างสรรค์และเอกสารประกอบการสร้างสรรค์เป็นของศิลปินผู้สร้างสรรค์

กลุ่มที่ 3
สาขา สาขาทัศนศิลป์และวิจิตรศิลป์
วันที่ประชุม 3 เมษายน 2553
รายชื่อคณะทำงานที่เข้าร่วมประชุมครั้งที่ 1
1. รศ. ปริญญา ตันติสุข ประธาน
2. ศ. ปรีชา เถาทอง ที่ปรึกษา
3. ผศ. วุฒิกร คงคา เลขาฯ
4. อ. ธเนศ อ่าวสินธุ์ศิริ เลขาฯ
5. รศ. อารยา ราษฎร์จำเริญสุข กรรมการ
6. อ. อรอนงค์ กลิ่นศิริ กรรมการ
7. ผศ. อริยา สุอังคะวาทิน กรรมการ
8. ดร.วุฒิพงษ์ โรจน์เขษมศรี กรรมการ
9. อ. ภานุ สรวยสุวรรณ กรรมการ
10. อ. สุชาติ ทองสีมา กรรมการ

คำจำกัดความ
งานสร้างสรรค์หมายถึง ผลงานด้านศิลปะ (ตามคำนิยามผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่น ของประกาศ ก.พ.อ. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีพิจารณาแต่งตั้ง
บุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 หน้า 49)

รูปแบบ / คุณสมบัติของผลงาน
ผลงานด้านศิลปะที่มีคุณค่าเป็นที่ยอมรับในวงวิชาชีพศิลปะ

การนับผลงาน
ก. คุณสมบัติที่แสดงถึงความเป็นชิ้นงาน (กรณีนับที่ตัวผลงานสร้างสรรค์)
ข. คุณสมบัติที่แสดงถึงความเป็นชิ้นงาน (กรณีนับเอกสารประกอบผลงานสร้างสรรค์)
การใช้ดรรชนี ข้อ ก และ ข เป็นตัววัดการนับผลงานด้านศิลปะในเชิงปริมาณไม่มีความสอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของศาสตร์สาขานี้ และทำให้เกิดข้อผิดพลาดในการชี้วัดคุณภาพ เสนอให้พิจารณาหาเกณฑ์ในเชิงคุณภาพ

การเผยแพร่
การนำผลงานด้านศิลปะสู่สาธารณะโดยมีการจัดการการนำเสนออย่างเป็นระบบ และมีการประเมินคุณค่าการนำเสนออันเป็นที่ยอมรับในวงวิชาชีพศิลปะ

สถานที่เผยแพร่
สถานที่ที่มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับผลงานด้านศิลปะและการนำเสนอนั้นๆ

การประเมินคุณค่า (ตัวชี้วัด / ระดับคุณค่า)
ตัวชี้วัด : คุณค่าของผลงานด้านศิลปะ
วิธีการประเมินคุณค่าของผลงานด้านศิลปะ จำแนกเป็นลักษณะใหญ่ๆ ดังนี้
1. การประเมินโดยผ่านการพิสูจน์ เช่น การได้รับรางวัลหรือได้รับเชิญจากสถาบัน/องค์กรอันเป็นที่ยอมรับในวงวิชาชีพศิลปะ หรือ
2. การประเมินโดยผ่านการพิจารณาคุณค่าจากผู้ทรงคุณวุฒิทางศิลปะ หรือ
3. นำเสนอผลงานด้านศิลปะ ข้อมูลและการอธิบายความเพื่อให้เกิดความเข้าใจในคุณค่าของผลงานด้านศิลปะนั้น

ระบบการจัดการความรู้จากงานสร้างสรรค์
หมายถึงการเผยแพร่ผลงานด้านศิลปะ การจัดกิจกรรมอันก่อให้เกิดความรู้ต่อเนื่องจากผลงานด้านศิลปะ และนำความรู้ที่ได้สู่สาธารณะและกลุ่มเป้าหมาย

หัวข้ออื่นๆ ที่อาจเกี่ยวข้อง:
คณะกรรมการพิจารณาประเมินคุณค่าผลงานสร้างสรรค์ทางศิลปะ (ระบบและกลไก)
เสนอแนะให้สภาฯ จัดตั้งทำเนียบผู้ทรงคุณวุฒิสาขาศิลปะเพื่อเป็นกลไกในการประเมินคุณค่าผลงานด้านศิลปะ การขอทุน และการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ รวมถึงการประกันคุณภาพการศึกษา
การพิจารณา
1. องค์กร/ผู้สร้างสรรค์ผลงานด้านศิลปะยื่นเสนอขอตำแหน่งวิชาการ ขอทุน และการประเมินคุณภาพของผลงานด้านศิลปะต่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อกำหนดตำแหน่งวิชาการ ให้ทุนสนับสนุนการสร้างสรรค์ผลงานด้านศิลปะ และการประกันคุณภาพการศึกษา
2. ผู้ทรงคุณวุฒิทำการคัดสรรผู้ผลิตผลงานด้านศิลปะที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในวงวิชาชีพเพื่อกำหนดตำแหน่งวิชาการและให้ทุนสนับสนุนการสร้างสรรค์ผลงานด้านศิลปะ
3. กรณีผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ยอมรับในวงวิชาชีพศิลปะ อาทิ ศิลปินแห่งชาติ ศิลปินชั้นเยี่ยมจากการแสดงศิลปกรรม
แห่งชาติ ถือผลงานสร้างสรรค์ของบุคคลากรเหล่านี้อยู่ในเกณฑ์คุณภาพโดยอัตโนมัติ

กรรมสิทธิ์และลิขสิทธิ์
ให้เป็นไปตาม “พระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ. 2474”“...กำหนดให้ลิขสิทธิ์ได้รับความคุ้มครองทันทีโดยอัตโนมัตินับแต่ได้สร้างสรรค์งานขึ้น...”

กลุ่มที่ 4
สาขา การแสดง ดนตรี และแฟชั่น
วันที่ประชุม 3 เมษายน 52

รายชื่อคณะทำงานที่เข้าร่วมประชุมครั้งที่ 1
1. รศ. ฉันทนา เอี่ยมสกุล (นาฏศิลป์ไทย) ม. ธรรมศาสตร์
2. อ. รุ่งวิทย์ ลัคนทิน (พัสตราภรณ์) ม. ธรรมศาสตร์
3. อ. จารุนี อารีรุ่งเรือง (การแสดง) ม. ศรีนครินทรวิโรฒ
4. คุณ ธีราภรณ์ น่ำทอง (ผู้แทน รศ. ดร.บุษกร สำโรงทอง) (ดุริยางฯ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ข้อเสนอแนะ
จากข้อสรุปของผู้เข้าร่วมประชุมทั้ง 4 ท่าน เห็นพ้องต้องกันว่าการประชุมเพื่อดำเนินการจัดทำเกณฑ์งานสร้างสรรค์ในครั้งนี้ มีความไม่พร้อมที่จะสรุปประเด็นให้ได้ตามเป้าหมายของโครงการ เนื่องจาก
1. มีตัวแทนคณาจารย์น้อยเกินไป คือ ทางด้านนาฏศิลป์ 1 ท่าน การแสดง 1 ท่าน เท่านั้น สำหรับทางด้านพัสตราภรณ์ มีธรรมชาติของการสร้างสรรค์งานแตกต่างจากกลุ่มการประชุมย่อย
2. ควรมีการแบ่งกลุ่มการประชุมแยกให้ชัดเจนในแต่ละด้าน ได้แก่
2.1 กลุ่มดนตรี
2.2 กลุ่มนาฏศิลป์
2.3 กลุ่มการแสดงและการออกแบบเพื่อการแสดง
ทั้งนี้ควรมีตัวแทนแต่ละกลุ่มที่มีจำนวนมากพอที่จะเป็นตัวแทนของคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เพราะข้อสรุปที่ได้จากการประชุมเกณฑ์งานสร้างสรรค์มีผลกับทุกสถาบัน

คำจำกัดความ / คำนิยาม
ผลงานวิชาการ (งานสร้างสรรค์) ทางด้านศิลปะ หมายถึง งานศิลปะหรืองานออกแบบ เช่น งานทัศนศิลป์ งานออกแบบภายใน งานออกแบบนิเทศศิลป์ งานออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ ตลอดจนผลงานสร้างสรรค์ศิลปะการแสดง เช่น ดนตรี นาฏศิลป์ การละคร และการออกแบบเพื่อการแสดง เป็นต้น ที่ประกอบไปด้วยตัวผลงานจำนวน 1 ผลงานหรือหลายชิ้นโดยนับเป็นผลงานทางวิชาการ (งานสร้างสรรค์) 1 ผลงาน และบทวิเคราะห์ที่อธิบายและชี้ให้เห็นว่างานดังกล่าวทำให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาการหรือเสริมสร้างองค์ความรู้ หรือให้วิธีการที่จะเป็นประโยชน์ต่อสาขาวิชานั้น และแสดงถึงความสามารถในการบุกเบิกในสาขาวิชานั้นโดยอาจมีรายละเอียดต่างๆ ที่แสดงให้เห็นคุณค่าของผลงานเพิ่มเติม ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นงานศิลปะหรืองานออกแบบที่ทำเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเพื่อรับปริญญาหรือประกาศนียบัตรใดๆ

รูปแบบ / คุณสมบัติของผลงาน
เป็นการสร้างสรรค์ผลงานด้านศิลปะการแสดง ที่ผ่านกระบวนการสร้างสรรค์อย่างเป็นระบบ และสามารถจัดแสดงเผยแพร่สู่สาธารณชน

การนับผลงาน
ก. คุณสมบัติที่แสดงถึงความเป็นชิ้นงาน (กรณีนับที่ตัวผลงานสร้างสรรค์)
การประดิษฐ์คิดค้นการแสดง ในรูปแบบต่างๆ เช่น งานดนตรี นาฏศิลป์ งานละคร หรือการออกแบบเพื่อการแสดง ที่เป็นการสร้างใหม่ เป็นงานต้นแบบและแสดงอัตลักษณ์ของผู้สร้างสรรค์
ข. คุณสมบัติที่แสดงถึงความเป็นชิ้นงาน (กรณีนับเอกสารประกอบผลงานสร้างสรรค์)
เป็นผลงานที่มีเอกสารประกอบผลงานสร้างสรรค์ ซึ่งอธิบายถึงกระบวนการสร้างสรรค์อย่างมีระบบ ตั้งแต่แนวคิด แรงบันดาลใจ ที่มา หรือข้อมูลเบื้องต้น ตลอดจนขั้นตอนการสร้างสรรค์งานจนกระทั่งได้ผลสำเร็จของงานในรูปแบบการแสดงซึ่งเผยแพร่สู่สาธารณชน
องค์ประกอบของงานสร้างสรรค์ทางศิลปะเพื่อการพิจารณาและประเมิน (ขอขยายความจากเอกสารหมายเลข 3 หมวดที่ 2 หน้า 3) เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผลงานสร้างสรรค์ทางศิลปะ
4. องค์ประกอบของงานสร้างสรรค์ทางศิลปะเพื่อการพิจารณาและประเมิน
4.1 ผลงานสร้างสรรค์ทางศิลปะ คือ ผลงานที่อยู่ในแนวทางทัศนศิลป์ เช่น วาดเส้น จิตรกรรม ประติมากรรม ศิลปะภาพพิมพ์ ศิลปะสื่อผสม และผลงานที่อยู่ในรูปแบบศิลปะการแสดง เช่น งานดนตรี งานนาฏศิลป์ งานละครและการออกแบบเพื่อการแสดง
4.2 เอกสารประกอบการสร้างสรรค์ เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ชมได้เข้าใจ และเข้าถึงคุณค่าของงานศิลปะนั้นๆ ตามความจำเป็น
4.3 การเผยแพร่ผลงานสู่สาธารณะ มีวิธีการเผยแพร่ดังนี้ การจัดนิทรรศการ การจัดการแสดง หรือการนำเสนอในลักษณะอื่นๆ

การเผยแพร่
จัดแสดงเผยแพร่สู่สาธารณชน ทั้งรูปแบบของการแสดงสดและ/หรือในรูปแบบการบันทึกภาพและเสียง เพื่อเผยแพร่ผ่านสื่อ

สถานที่เผยแพร่
สถานที่อันเหมาะสมต่อเนื้อหาการจัดแสดงในรูปแบบเฉพาะด้านที่สร้างสรรค์ขึ้นและมีผู้ชมการแสดง

การประเมินคุณค่า (ตัวชี้วัด / ระดับคุณค่า)
เห็นด้วยกับเอกสารหมายเลข 3 หมวดที่ 2 หน้า 3 เรื่องการประเมินคุณค่า
5. การประเมินคุณค่าของงานสร้างสรรค์ทางศิลปะ
5.1 ตัวชี้วัดหลัก คือ การประเมินคุณค่าทางศิลปะของผลงาน โดยผู้ทรงคุณวุฒิทางศิลปะ ผู้เชี่ยวชาญทางศิลปะ นักวิชาการทางศิลปะ ในรูปคณะกรรมการ หรือคณะอนุกรรมการ จำนวนไม่เกิน 5 คน หรือไม่น้อยกว่า 3 คน
5.2 ตัวชี้วัดรอง คือ การประเมินภูมิหลังด้านการสร้างสรรค์ของผู้สร้างสรรค์
(1) การเผยแพร่ผลงานสร้างสรรค์ พิจารณาถึงความสำคัญของนิทรรศการหรือการจัดแสดง จำนวนครั้ง ขนาดของนิทรรศการหรือการจัดแสดง และความน่าเชื่อถือขององค์กร/ หน่วยงาน/ กลุ่มบุคคล/ บุคคลผู้จัดนิทรรศการ
(2) การได้รับรางวัลในระดับชาติ ระดับนานาชาติ ได้รับเชิญเข้าร่วมแสดงงาน หรือได้รับคัดเลือกให้นำเสนอผลงานในระดับชาติ หรือระดับนานาชาติ
(3) การได้รับการประกาศเกียรติคุณยกย่องให้เป็นศิลปินในระดับต่างๆ เช่น ศิลปินแห่งชาติ ศิลปินชั้นเยี่ยม และศิลปินเกียรติยศอื่นๆ

ระบบการจัดการความรู้จากงานสร้างสรรค์
- มีรูปธรรมที่เป็น “ระบบ” ของการจัดการความรู้จากงานสร้างสรรค์ทางศิลปะการแสดง
- มีการจัดบรรยาย (talk) เสวนา (seminar) หรือการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ (workshop) ประกอบงานสร้างสรรค์สามารถนับเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการความรู้จากงานสร้างสรรค์ได้
- ผู้สร้างสรรค์ดำเนินการใน “ระดับบุคคล”อย่างไรในระบบการจัดการความรู้จากงานสร้างสรรค์ของตน การสร้างสรรค์ผลงานเพื่อใช้ขอตำแหน่งทางวิชาการหรือเพื่อขอทุนสร้างสรรค์ ควรมีการเรียบเรียงรายงาน การวิเคราะห์เชิงเอกสารให้ปรากฏเป็นรูปธรรมที่สุด
- ความหมายและความเกี่ยวข้องกับความเป็น “นวัตกรรมการเรียนการสอน” (อ้างเอกสาร QA วก 002 ม.กรุงเทพ ข้อ 7) ของงานสร้างสรรค์ (งานทัศนศิลป์หรืองานออกแบบ ตลอดจนศิลปะการแสดง) ในฐานะที่ผู้สร้างสรรค์เป็นอาจารย์ระดับมหาวิทยาลัย ควรนำไปใช้ประโยชน์ในทางการศึกษา

โครงการประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์ สภาคณบดีทางศิลปะแห่งประเทศไทย

สภาคณบดีทางศิลปะแห่งประเทศไทย จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2541 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นองค์กรและศูนย์กลางความร่วมมือระหว่างคณะวิชาทางศิลปะระดับอุดมศึกษา เป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และประสบการณ์ในเรื่องที่เกี่ยวกับสาขาวิชาด้านศิลปะ มีบทบาทในการพัฒนาทางด้านวิชาการ การสร้างสรรค์ศิลปะ การบริการวิชาการแก่สังคม และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
สภาคณบดีทางศิลปะแห่งประเทศไทย เรียกชื่อย่อภาษาไทยว่า “สคณศท” ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Council of Fine and Applied Arts Deans of Thailand เรียกชื่อย่อภาษาอังกฤษว่า “CFADT” มีความประสงค์จะจัดประกวดตราสัญลักษณ์ โดยมุ่งหวังให้เป็นกิจกรรมที่ให้นิสิต นักศึกษาในสถาบันศิลปะระดับอุดมศึกษาได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมของสภาฯ โดยตราสัญลักษณ์ที่ได้รับการคัดเลือกจากการประกวดจะถูกนำไปใช้ในกิจกรรม การประชาสัมพันธ์และเอกสารต่างๆของสภาฯ ต่อไป

วัตถุประสงค์
1. เพื่อจัดทำตราสัญลักษณ์ (Logo) สำหรับใช้การประชาสัมพันธ์และจัดพิมพ์ในเอกสารต่าง ๆ ของ สภาคณบดีทางศิลปะแห่งประเทศไทย
2. เพื่อสนับสนุนให้นิสิตนักศึกษาได้แสดงความรู้ความสามารถทางด้านการออกแบบ และความคิดสร้างสรรค์
3. เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในกิจกรรมของสภาคณบดีทางศิลปะแห่งประเทศไทย

ผู้มีสิทธิ์ส่งผลงานเข้าประกวด
นิสิตนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในสถาบันศิลปะในประเทศไทยระดับปริญญาตรี หรือปริญญาโท

หลักเกณฑ์ในการส่งผลงานเข้าร่วมประกวด
1. ตราสัญลักษณ์ (Logo) ต้องสามารถสื่อความหมายและเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่าเป็น
สภาคณบดีทางศิลปะแห่งประเทศไทย ซึ่งสื่อถึงความร่วมมือเพื่อพัฒนาการศึกษาทางศิลปะ
2. ภาพของตราสัญลักษณ์ (Logo) ต้องจดจำง่าย และแสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์
3. ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดต้องสามารถอธิบายความหมายของตราสัญลักษณ์ที่ส่งเข้าประกวดได้
4. นิสิตนักศึกษาที่ส่งผลงานเข้าประกวดสามารถส่งได้คนละ 1 ชิ้นงานเท่านั้น
5. ผลงานที่ส่งเข้าประกวดให้ส่งเป็นดิจิทัลไฟล์ นามสกุล .ai ความละเอียด 300 dpi ขึ้นไป
โดยบันทึกลงบนแผ่น CD (ไฟล์ที่ส่งมาต้องสามารถแก้ไขได้)
6. นำตราสัญลักษณ์ (Logo) ที่ออกแบบแล้วไปจัดวางบนหัวกระดาษจดหมาย (ขนาด
A 4) และซองจดหมายขนาดมาตรฐานสีขาว (กว้าง 10.8 x ยาว 23.5 เซนติเมตร) สี 1 ชุดและขาว-ดำ 1 ชุด
7. จัดพิมพ์ผลงาน 4 สี 2 สีหรือ สีเดียว 1 ชุด และขาว-ดำ 1 ชุด ลงบนกระดาษสีขาวขนาด A4 ชุดละ 1 แผ่น พร้อมผนึกด้านหลังด้วยกระดาษแข็งหรือฟิวเจอร์บอร์ดสีดำโดยไม่ต้องมีขอบแนบมาพร้อม CD
8. ผลงานที่ส่งเข้าประกวดจะมีเพียง 1 ผลงานเท่านั้นที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ผลงานที่ส่งเข้า
ประกวดทั้งหมดถือเป็นลิขสิทธิ์ของสภาคณบดีทางศิลปะแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการ
ตัดสินสามารถใช้สิทธิ์ในการปรับผลงานเพื่อประโยชน์ในการใช้งานจริงต่อไป
9. หากไม่มีผลงานใดได้รับรางวัลชนะเลิศ คณะกรรมการมีสิทธิในการปรับใช้ผลงานอื่นๆและการตัดสินของกรรมการถือเป็นที่สิ้นสุด
10. ผลงานที่ส่งเข้าประกวดต้องเป็นผลงานที่ผู้ส่งเข้าประกวดออกแบบเอง ห้ามมิให้นำผลงาน ของ ผู้อื่นส่งเข้าประกวด
11. สภาคณบดีทางศิลปะแห่งประเทศไทยจะไม่ส่งคืนผลงานให้เจ้าของผลงานไม่ว่ากรณีใด ๆ
ทั้งสิ้น
12. ผู้ที่ได้รับรางวัลต้องเสียภาษี ณ ที่จ่าย เป็นจำนวนร้อยละ 5 ของเงินรางวัล

สถานที่ส่งผลงานประกวด
-คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
-คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
-วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์
-คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
-คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
-คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ
-คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
-คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
-คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
-ภาควิชาวิจิตรศิลป์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณ ทหารลาดกระบัง
-คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
-คณะศิลปวิจิตร สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์
-คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
-คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
-คณะศิลปะและการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต
-คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

หลักเกณฑ์ในการตัดสิน
การสื่อความหมาย 30 คะแนน
ความคิดสร้างสรรค์ 30 คะแนน
ความสวยงามและความครบถ้วนขององค์ประกอบ 20 คะแนน
ความน่าสนใจและความสามารถในการ
นำไปใช้จริงในสื่อประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ 20 คะแนน

รางวัล
รางวัลชนะเลิศ 1 รางวัล เงินรางวัลมูลค่า 20,000 บาท พร้อมใบประกาศเกียรติคุณ
รางวัลรองชนะเลิศ 1 รางวัล เงินรางวัลมูลค่า 7,000 บาท พร้อมใบประกาศเกียรติคุณ
รางวัลชมเชย 1 รางวัล เงินรางวัลมูลค่า 3,000 บาท พร้อมใบประกาศเกียรติคุณ

ระยะเวลาการประกวดตราสัญลักษณ์ และการประกาศผล
· เปิดรับผลงาน ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม – 30 เมษายน 2552
· ประกาศผลรางวัลที่ 15 พฤษภาคม 2552
· สภาคณบดีทางศิลปะแห่งประเทศไทย จะประกาศผลการตัดสินในวันที่ 15 พฤษภาคม 2552โดยสามารถตรวจสอบผลการตัดสินได้ที่ http://cfadt.blogspot.com/ หรือสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่อาจารย์นิจจัง พันธะพจน์
โทร 02- 902-0299 ต่อ 2618

ประวัติและการก่อตั้งสภาคณบดีทางศิลปะแห่งประเทศไทย




ประวัติและการก่อตั้งสภาคณบดีทางศิลปะแห่งประเทศไทย

จากการประชุมสัมมนาทัศนศิลป์ศึกษาแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อวันที่ 4-6 มีนาคม 2541 ได้มีข้อสรุปสำคัญ ข้อหนึ่งคือการจัดให้มีสภาคณบดีทางศิลปะขึ้น เพื่อเป็นองค์กรและศูนย์กลางความร่วมมือระหว่างคณะวิชาทางศิลปะระดับอุดมศึกษาโดยมอบหมายให้คณะศิลปกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นผู้ดำเนินการในระยะแรก และให้มีการประชุมคณบดีเพื่อพิจารณาจัดตั้งสภาคณบดีทางศิลปะแห่งประเทศไทยขึ้น ในวันเสาร์ที่ 30 พฤษภาคม 2541 ณ มหาวิทาลัยบูรพา โดยมีคณบดีจากมหาวิทยาลัย ของรัฐ 5 สถาบัน เข้าร่วมประชุม
ผลสรุปจากการประชุมคณบดีทางศิลปะ ได้ตกลงก่อตั้งสภาคณบดีทางศิลปะแห่งประเทศไทย โดยคณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา (รองศาสตราจารย์สุชาติ เถาทอง) เป็นประธานสภาคณบดีทางศิลปะแห่งประเทศไทยคนแรก นอกจากนั้นยังได้ แนวคิดและข้อสรุปอย่างชัดเจนถึงความสำคัญและความจำเป็นของสภาคณบดีทางศิลปะแห่งประเทศไทย ที่มีต่อพัฒนาการศึกษาและวิชาชีพทางศิลปะสาขาต่างๆ ชึ่งปัจจุบันสถาบันทางด้านศิลปะได้พัฒนาและขยายตัวไปอย่างรวดเร็วทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค การจัดตั้งสภาคณบดีทางศิลปะแห่งประเทศไทยจึงเป็นองค์กรหลักที่เป็นศูนย์กลางของความร่วมมือและพัฒนางานในด้านต่างๆได้อย่างมีคุณภาพ













ศ.สุชาติ เถาทอง
ประธานสภาคณบดีทางศิลปะแห่งประเทศไทย ท่านแรก


ศ.ปรีชา เถาทอง
ประธานสภาคณบดีทางศิลปะแห่งประเทศไทย ท่านที่สอง



อาจารย์อำนวย กันทะอินทร์
ประธานสภาคณบดีทางศิลปะแห่งประเทศไทย ท่านที่สาม


อาจารย์นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน
ประธานสภาคณบดีทางศิลปะแห่งประเทศไทย ท่านที่สี่














ผศ.สรรเสริญ มิลินทสูต

ประธานสภาคณบดีทางศิลปะแห่งประเทศไทย ท่านปัจจุบัน

วัตถุประสงค์

วัตถุประสงค์ของสภาคณบดีทางศิลปะแห่งประเทศไทย คือ

  1. เพื่อเป็นองค์กรกลางในการประชุมร่วมมือระหว่างคณบดีทางศิลปะของรัฐและเอกชน
  2. เพื่อเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และประสบการณ์ในเรื่องที่
    เกี่ยวกับสาขาวิชาด้านศิลปะ
  3. เพื่อให้เกิดบทบาทที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทางด้านวิชาการ การสร้างสรรค์ศิลปะ
    การบริการวิชาการแก่สังคม และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
  4. ยกระดับความสามารถของคณะวิชาทางศิลปะในประเทศไทยให้สูงขึ้น
  5. วางนโยบายการผลิตบัณฑิตทางศิลปะให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ
    และสังคม